ภาพสไลด์

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

โลกใบนี้จะรองรับคนได้เท่าไร ?

        เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า “โลก” บ้านหลังเดียวของมนุษย์นี้จะรองรับประชากรได้เท่าไร? ทรัพยากรในโลกจะเลี้ยงดูเราทั้งหมดได้แค่ไหน? มาหาคำตอบจากรายงานของไลฟ์ไซน์ซึ่งเสนอความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์ที่วิเคราะห์ว่า โลกจะโอบอุ้มเราได้เต็มที่ 9,000-10,000 ล้านคน 
       
       หนึ่งในจำนวนนักวิทยาศาสตรที่เชื่อว่าโลกจะรองรับมนุษย์ได้ 9,000-10,000 ล้านคน คือ เอ็ดเวิร์ด โอ.วิลสัน (Edward O. Wilson) นักชีววิทยาสังคม (sociobiologist) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ซึ่งเขาเขาประเมินความสามารถในการรองรับประชากรของโลกจากทรัพยากรที่มีอยู่ และเขาได้ชี้ถึงประเด็นนี้ในหนังสือ “เดอะฟิวเจอร์ออฟไลฟ์” (The Future of Life) ของเขาเองที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2002 ว่า “ขีดจำกัดของชีวมณฑล (biosphere) นั้นตายตัว”
       
       นอกจากน้ำจืดที่ใช้สอยได้ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดแล้ว ยังมีข้อจำกัดในเรื่องอาหารที่โลกจะมีพอเลี้ยงประชากรได้ แม้แต่ในกรณีที่มีการบริโภคอาหารอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นั่นคือ ธัญพืชทุกเมล็ดถูกใช้เพื่อเลี้ยงประชากร (แทนที่จะใช้เลี้ยงปศุสัตว์ซึ่งไลฟ์ไซน์ระบุว่าเป็นวิธีเปลี่ยนพลังงานจากพืชสู่พลังงานอาหารที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ) ก็ยังมีข้อจัดในการขยายจำนวนประชากรอยู่ดี
       
       “หากประชากรโลกทุกคนเห็นพ้องต้องกันที่จะเป็นมังสวิรัติ แล้วปันอาหารเพียงน้อยนิดแก่ปศุสัตว์หรือไม่ปันเลย พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกที่มีอยู่ 14 ล้านตารางกิโลเมตร ก็จะเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากร 1 หมื่นล้านคน” วิลสันเขียนอธิบายในหนังสือของเขา พร้อมทั้งระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถปลูกธัญพืชได้ราวปีละ 2 พันล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อชาวมังสวิรัติ 1 หมื่นล้านคน แต่ปริมาณธัญพืชดังกล่าวเพียงพอสำหรับชาวสหรัฐฯ ที่กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์เพียง 2.5 พันล้านคน เพราะพืชผลจำนวนมากจะถูกนำไปเลี้ยงปศุสัตว์และสัตว์ปีกในสหรัฐฯ
       
       ดังนั้น จำนวนประชากร 1 หมื่นล้านคนคือจำนวนสูงสุดของขีดจำกัดที่โลกรับได้ หากพิจารณาในแง่อาหาร แต่ความเป็นจริงที่ว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยในการหยุดบริโภคเนื้อ ดังนั้น วิลสันเชื่อว่าความสามารถในการรองรับประชากรของโลกจะต่ำกว่า 1 หมื่นล้านคน
       
       ส่วน โจเอล โคเฮน (Joel Cohen) นักชีววิทยาประชากร จาหมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) สหรัฐฯ ชี้ว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่จำกัดขีดความสามารถโลกในการเลี้ยงประชากรคือวัฏจักรไนโตรเจน และปริมาณฟอสฟอรัสที่มีอยู่ รวมถึงความเข้มข้นของคาร์บอนในอากาศ แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากว่าผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่ระบุนั้นจะเป็นเช่นไร  
       
       “ในความเป็นจริงไม่มีใครรู้ว่าจำนวนประชากรจะไปถึงขีดสูงสุดเมื่อไรหรือจะไปถึงขีดสูงสุดเท่าไร” โคเฮนให้ความเห็น
       
       จากการประเมินของหน่วยประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Division) นั้น ประชากรโลกจะทะลุ 7 พันล้านคนในวันที่ 31 ต.ค.54 หรือราวๆ นี้ และหากคาดการณ์นี้ถูกต้อง จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 9 พันล้านคนในปี 2050 และ 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2100 อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์คิดว่าบางทีระหว่างเดินบนเส้นทางไปสู่เป้าหมายดังกล่าว เราอาจจะเลี้ยวกลับก่อนที่ประชากรจะเพิ่มสูงขนาดนั้นก็ได้
       
       จากการประเมินแนวโน้มประชากรโลกของสหประชาชาติ แสดงให้เห็นว่าครอบครัวในปัจจุบันกำลังเล็กลงเรื่อยๆ โดย เจอราร์ด ไฮลิก (Gerhard Heilig) หัวหน้าแผนกประเมินและคาดการณ์ประชากรของสหประชาติกล่าวว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์จาก 230 ประเทศ ตั้งแต่ปี 1950 แสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างมาก โดยทั่วดลกนั้นอัตราการเกิดของประชากรตกมาอยู่ใน “ระดับทดแทนจำนวนเดิม” คือ มีเด็กเกิดใหม่เฉลี่ย 2.1 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เด็กจะเข้าไปแทนที่ผู้ปกครอง
       
       หากอัตราการเกิดทั่วโลกยังเป็นเช่นนี้ไปจนถึงปลายศตวรรษ จำนวนประชากรมนุษย์จะคงที่อยู่ระหว่าง 9,000-10,000 ล้านคน และตราบเท่าที่ยังมีความกังวลในเรื่องจำนวนประชากรอยู่ เราก็จะเพิ่มจำนวนประชากรของเราต่อไปเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ก็จะไม่มากไปกว่านี้นัก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น